พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547
-
มาตรา 35
ผู้จัดการต้องจัดให้มีการบันทึกรายการต่างๆ เกี่ยวกับผู้พักและจํานวน ผู้พักในแต่ละห้องลงในบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 3) ในทันทีที่มีการเข้าพัก โดยให้ผู้พักคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในบัตรทะเบียนผู้พัก หากผู้พักมีอายุต่ํากว่าสิบแปดปีบริบูรณ์และเข้าพักตามลําพัง ให้ผู้จัดการหรือผู้แทนลงลายมือชื่อกํากับไว้ด้วยและนําไปบันทึกลงในทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 4) ให้แล้วเสร็จภายใน ยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากมีการลงทะเบียนเข้าพัก
ถ้ารายการซึ่งจะต้องบันทึกลงในทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 4) ตามวรรคหนึ่งซ้ํากับรายการวันก่อนให้บันทึกรายการดังกล่าวว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การบันทึกรายการต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้เข้าพักลงในบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 3)และทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 4) ต้องบันทึกทุกรายการให้ครบถ้วน ห้ามมิให้ปล่อยช่องว่างไว้โดยไม่มีเหตุผลสมควร
ผู้จัดการต้องเก็บรักษาบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 3)และทะเบียนผู้พัก(ร.ร. 4) ไว้เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีและต้องให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้
บัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 3)และทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 4) ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
บทกำหนดโทษ
มาตรา 56 ระบุว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษ ปรับทางปกครองตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”
มาตรา 57 ระบุว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”
-
มาตรา 36
ผู้จัดการต้องส่งสําเนาทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 4) ในแต่ละวันไปให้นายทะเบียนทุกสัปดาห์แล้วให้นายทะเบียนทําใบรับมอบให้ไว้เป็นสําคัญ หากโรงแรมใดอยู่ห่างไกลหรือไม่สามารถส่งได้ตามกําหนดดังกล่าว ให้นายทะเบียนพิจารณากําหนดระยะเวลาส่งสําเนาดังกล่าวแล้วแจ้งให้ผู้จัดการทราบ
บทกำหนดโทษ
มาตรา 56 ระบุว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”
-
มาตรา 37
ในกรณีที่ทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 4) ที่เก็บรักษาไว้ในโรงแรมสูญหายหรือถูกทําลาย ผู้จัดการต้องดําเนินการขอคัดลอกสําเนาทะเบียนผู้พักนั้นจากนายทะเบียนมาเก็บรักษาไว้แทน
บทกำหนดโทษ
มาตรา 56 ระบุว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”